การกระทำและความเป็นเหตุเป็นผล

            เราเชื่อว่าความคิดของเราที่เกิดจากเหตุผลจะนำไปสู่การตัดสินใจซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลต่อการกระทำ ดังนั้น การกระทำและการตัดสินใจของเราในชีวิตประจำวันก็ควรจะสมเหตุสมผล แต่กระบวนการคิดของเราเรียบง่ายเช่นนี้จริงหรือ?

            คุณ Jeremy Shapiro แห่งศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา (Burasa Centre for Behavior Economics) นำเสนอว่า ‘ไม่ใช่’ เพราะในการคิด ตัดสินใจ ที่นำไปสู่การกระทำของเราแฝงไว้ด้วยอคติบางอย่างที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น เข้าใจข้อมูลผิดพลาด มีแรงกดดันจากสังคม หรือไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ ทำให้กว่าที่ความคิดจะมาถึงขั้นตอนการกระทำมันก็อาจจะบิดเบี้ยวไปจากความตั้งใจเดิมที่ตัดสินโดยใช้เหตุผล

ภาพจากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา

           หลายคนอาจส่ายหน้าไม่เห็นด้วย แต่คุณ Jeremy หยิบยกงานวิจัยที่ยืนยันความ ‘ไม่มีเหตุผล’ ของมนุษย์หลายชิ้นที่น่าสนใจ เช่น คนสองกลุ่มได้รับแบบสอบถามว่าจะบริจาคเงินเพื่อแก้ไขปัญหาความหิวโหยจำนวนเท่าไร โดยกลุ่ม A จะได้รับข้อมูลเชิงสถิติมหภาค เช่น ในแต่ละวันมีผู้เสียชีวิตจากความอดอยากกี่คน ในขณะที่กลุ่ม B จะได้รับข้อมูลระดับบุคคล เช่น เรื่องราวความอดอยากแร้นแค้นในระดับบุคคล ผลการวิจัยพบว่าคนกลุ่ม B จะบริจาคเงินให้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

            ผลการศึกษาดังกล่าวยืนยันได้อย่างดีว่ากระบวนการตัดสินใจของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัย เช่น อารมณ์ ความรู้สึก และความสงสาร ณ ขณะที่รับทราบข้อมูล ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการคิด ตัดสินใจ และนำไปสู่การกระทำที่แตกต่างออกไป

อคติที่อยู่เบื้องหลังกระบวนการคิด

            “ก่อนที่หาทางเปลี่ยนพฤติกรรม เราควรคิดก่อนว่าเป้าหมายที่เราจะทำคือเปลี่ยนพฤติกรรมรูปแบบใด” คุณ Jeremy เสนอ และอธิบายเพิ่มเติมว่าสามารถแบ่งลักษณะของการเปลี่ยนพฤติกรรมออกเป็น 2 รูปแบบ แบบแรกสำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่ใส่ใจในประเด็นสังคมสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเน้นการสร้างความตระหนักรู้ในปัญหา ส่วนแบบที่สองสำหรับกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหาอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านั้นปรับความคิดสู่การปฏิบัติจริง

            ทั้งสองรูปแบบต่างมีอคติ (biases) ที่แตกต่างกัน เช่น ในการสร้างความตระหนักรู้ เราอาจต้องเผชิญกับอคติบางอย่าง เช่น บรรทัดฐานทางสังคม (social norms) การให้ความสำคัญต่อปัจจุบันมากกว่าอนาคต (present bias) และการเลือกรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (saliency bias) ส่วนการกระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติจริง เราอาจต้องเจอกับอคติ เช่น อคติในสถานะ (Status quo bias) หมายถึงการยึดติดกับสถานะปัจจุบันซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้รู้สึกว่าสูญเสียอะไรบางอย่าง ช่องว่างระหว่างความตั้งใจและการกระทำ (intention-action gap) และการผัดวันประกันพรุ่ง (procrastination)

            หลายคนอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าอคติเหล่านั้นมีจริงหรือไม่และส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างไร คุณ Jeremy หยิบยกตัวอย่างงานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างสิ่งที่บุคคลเชื่อและการกระทำของบุคคลนั้นๆ โดยได้สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 500 คนว่าการเก็บขยะที่พบเห็นอยู่ข้างทางเป็นความรับผิดชอบที่ควรกระทำหรือไม่ ร้อยละ 94 ตอบว่าเห็นด้วย แต่มีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่หยิบขยะซึ่งถูกวางไว้โดยนักวิจัยไปทิ้ง

ภาพจากศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบูราซา

           งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองสุ่มแจกใบสมัครงานผู้จัดการห้องทดลองให้กับสมาชิกคณะวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัย ในใบสมัครมีรายละเอียดทั้งประสบการณ์การทำงานและวุฒิการศึกษาเหมือนกันทุกอย่าง แต่แตกต่างเพียงชื่อผู้สมัครงานคือจอห์นซึ่งเป็นผู้ชายและเจนนิเฟอร์ซึ่งเป็นผู้หญิง ผลลัพธ์ของงานวิจัยชิ้นนี้น่าตกใจอย่างยิ่ง เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับใบสมัครงานประเมินให้จอห์นมีความสามารถ ศักยภาพ โอกาสในการถูกว่าจ้าง และเงินเดือนที่ควรได้รับสูงกว่าเจนนิเฟอร์อย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนได้อย่างดีว่าความไม่เท่าเทียมทางเพศยังถูกฝังอยู่ในระบบคิด

            ทั้งสองตัวอย่างสะท้อนให้เห็นถึง ‘อคติ’ ที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการคิดของมนุษย์ และการเปลี่ยนพฤติกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้หากเราดำเนินกิจกรรมโดยลืมนึกถึงอคติเหล่านั้นและหาทางทลายมันออกไป

ที่มา : by 

ความคิดเห็น

ยอดนิยม

CALENDAR

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม