แผนผังมโนทัศน์ (Concept Mapping)

ความหมายของแผนผังมโนทัศน์  (Concept  Mapping)

แผนผังมโนทัศน์  หมายถึง  ความคิดความเข้าใจที่ได้รับมาจากการสังเกต หรือประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  นำมาจัดประเภทของข้อมูลหรือเหตุการณ์ที่เหมือนหรือแตกต่างกันไว้ในกลุ่มหรือประเภทเดียวกันโดยอาศัยคุณลักษณะร่วมกัน เป็นเกณฑ์  องค์ประกอบของแผนผังมโนทัศน์มี  3  องค์ประกอบ  คือ  มโนทัศน์หลัก   มโนทัศน์รอง   มโนทัศน์ย่อย   โดยเชื่อมโยงมโนทัศน์ที่มีความสัมพันธ์กันด้วยเส้น

รูปแบบของแผนผังมโนทัศน์มี 5 แบบ  ได้แก่ 

-  แบบกระจายออก (Point grouping)  

-  แบบปลายเปิด (Opened grouping)  

-  แบบปลายปิด (Closed grouping)  

-  แบบเชื่อมโยงข้ามจุด  (Linked  grouping) 

-  แบบผสม  (Mixed  grouping)

กระบวนการ Concept Mapping ประกอบด้วยขั้นตอนย่อย ๆ 6 ขั้นตอน

1. Preparation Step - ขั้นของการเตรียมการ

       เป็นขั้นตอนที่ผู้ริเริ่มมีความคิดใหม่ๆ หรือมีโครงการใหม่ๆ ที่ต้องการจะทำการวิเคราะห์ ผู้ริเริ่มนี้จะเป็นผู้รวบรวมสมาชิกภายในกลุ่ม (สอดคล้องกับ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice - CoP) ของการจัดการความรู้ -KM) จะเป็นจำนวนเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาที่ต้องการจะแก้ไข จากนั้นจะทำตารางนัดหมายไว้คร่าว ๆ หลังจากนั้นจะทำการนัดหมายการประชุมครั้งแรก ขั้นตอนนี้จะเป็นการกล่าวถึงโครงการ หรือความต้องการของโครงการ วัตถุประสงค์คืออะไร ต้องการผลลัพธ์อะไรบ้าง และการทำงานร่วมกันทางความคิดจะเป็นอย่างไร

2. Generation Step ขั้นของการสร้างความคิด

       คือการที่ทุกคนในกลุ่มเสนอความคิดเห็นของตนเองออกมา ข้อมูลที่ได้อาจจะมาจากตำรา งานวิจัย หรือแหล่งความรู้ (Sources of Knowledge) ที่หลากหลาย อาทิ ห้องสมุด อินเตอร์เน็ต หนังสือ วารสารวิชาการ ฐานข้อมูลความรู้ต่างๆ หรือบางครั้งอาจจะมาจากผู้เชี่ยวชาญ (Center of Excellence - CoE) ขั้นตอนนี้จะสนใจที่จำนวนของความคิด มากกว่า คุณภาพของความคิด ผู้นำการประชุม หรือ วิทยากรกระบวนการ (Facilitator) จะมีบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลานี้เป็นอย่างมากที่จะกระตุ้นให้สมาชิกนำเสนอความคิดเห็น

3. Structure Step - ขั้นการจัดโครงสร้างความคิด

      สมาชิกในกลุ่มจะช่วยกันจัดกลุ่มของความคิด (Ideas Grouping) รวมทั้งการจัดลำดับช่วงชั้นของความคิด (Basic Ordering Ideas - BOIs)

4. Representation Step - การวิเคราะห์แผนที่มโนทัศน์

     เป็นขั้นตอนที่จะวิเคราะห์คุณภาพของความคิด วิเคราะห์ความสัมพันธ์ (Relationship) วิเคราะห์ประเด็นเชื่อมโยง หรือเกี่ยวข้อง รวมทั้งวิเคราะห์ส่วนขาด หรือสิ่งที่ตกหล่น ยังไม่มีใครมอง

5. Interpretation Step - การตีความและแปลความหมาย

     เป็นขั้นตอนในการทำความเข้าใจ และแปลผลของแผนที่มโนทัศน์ เป็นขั้นตอนที่จะต้องนำแผนที่มโนทัศน์ออกมาสื่อสารให้เป็นที่เข้าใจได้โดยง่าย ไม่สำคัญว่าเขียนมันออกมาได้ แต่สำคัญว่า เขียนแล้ว ชาวบ้านอ่านเข้าใจด้วย ซึ่งตัวชาวบ้านเองก็จะต้องฝึกอ่าน แผนที่มโนทัศน์ให้เป็นด้วย

6. Utilization Step การนำไปใช้ประโยชน์

     เป็นการนำ Concept Mapping ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินงาน เช่น การนำไปใช้เป็น Strategic Map หรือการนำไปใช้เป็นกรอบแนวคิด (Conceptual framework) ในการดำเนินงานวิจัย หรือวิเคราะห์เพื่อ แก้ปัญหาขององค์กรหรือหน่วยงาน

ประโยชน์ของการใช้แผนผังมโนทัศน์  (Concept  Mapping)

    เนื่องจากผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แผนผังมโนทัศน์ จากการคิด วิเคราะห์และตัวอย่างที่หลากหลาย ดังนั้นผลที่ผู้เรียนจะได้รับโดยตรงคือ จะเกิดความเข้าใจในแผนผังมโนทัศน์นั้น และได้เรียนรู้ทักษะการสร้างมโนทัศน์ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจมโนทัศน์อื่น ๆต่อไปได้ รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลโดยการอุปนัย(inductive reasoning) อีกด้วย

ข้อดีของการใช้แผนผังมโนทัศน์  (Concept  Mapping)

    ข้อดีที่สำคัญ ของ การใช้ Concept Mapping คือ ทำให้สามารถเห็นภาพความคิดรวบยอด ในรูปแบบที่จับต้องได้ ทำให้สามารถให้ความสำคัญได้ง่ายดาย จึงสะดวกในการนำไปทบทวนทุกครั้งที่ต้องการ นอกจากนี้ในการรวบรวมความคิดรวบยอดต้องใช้ความเข้าใจที่ชัดเจนและแม่นยำทั้งในเรื่องความหมาย และความเชื่อมโยงของความคิดรวบยอดจึงทำให้การเรียนรู้ กลายเป็นกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์กัน ทั้งนี้ในการนำเสนอความคิดรวบยอดให้แก่นักเรียน ครูไม่ควรให้นักเรียนจำ Concept Mapping ที่เตรียมไว้แล้ว เพราะนั่นก็เป็นเพียงแค่การเรียนแบบท่องจำอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น ที่ไม่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่มีความหมายและยั่งยืน

ข้อจำกัดของการใช้แผนผังมโนทัศน์  (Concept  Mapping)

1.ผู้สอนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจรูปแบบ  และประโยชน์ของมโนทัศน์  แบบต่างๆ  จึงจะสามารถสอนหรือ แนะนำผู้เรียนให้เกิดการเรียนรู้ได้ดี

2.ผู้เรียนอาจเกิดความเบื่อหน่าย  หรือไม่มีความอดทนต่อบางมโนทัศน์ที่ไม่กระจ่างชัดเจน

ภาพตัวอย่างการเขียนแผนผังมโนทัศน์ด้วยมือ


จากนั้นนำแผนผังมโนทัศน์มาเขียนด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ CMapTool ได้ผลงานดังภาพข้างล่างนี้


ภาพตัวอย่างการระดมความคิดเห็นของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการบ่มเพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ (KKU - BI) ที่ผู้เขียนไปเป็นวิทยากรกระบวนการ


หลักการในการเขียนแผนผังมโนทัศน์ มีดังนี้
1. เขียนตัวหนังสือเป็นแบบตัวพิมพ์ใหญ่ กรณีภาษาอังกฤษ หรือ ตัวหนาและเน้นคำกรณีเป็นภาษาไทย สำหรับประเด็นความคิด (Node)
2. ใช้กระดาษแบบไม่มีเส้น (Unlined paper) เพื่อไม่ให้เส้นที่อยู่บนกระดาษมาขีดกรอบความคิด หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เส้นบรรทัดอยู่ในแนวตั้ง (Vertical)
3. ใช้กระดาษเปล่าที่ไม่มีการเขียนอะไรมาก่อน
4. เชื่อมคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กันด้วยเส้น (Link line) หากมีความคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นก็แตกเส้นเชื่อมออกไปด้านข้างดังในภาพข้างบน
5. เขียนต่อเนื่องไปอย่างรวดเร็วไม่ต้องหยุด ส่งผ่านความคิดให้เกิดความลื่นไหลไปเรื่อยๆ ไม่ต้องหยุดว่าความคิดควรจะอยู่ตรงไหน เขียนลงไปก่อน (เราสามารถเคลื่อนย้ายหรือลากเส้นความสัมพันธ์ได้ทีหลัง)
6. เขียนทุกอย่างลงไปโดยไม่ต้องตีความหรือพยายามหาคำอธิบายใดๆ เพราะกระบวนการจะหยุดชะงักในการคิด
7. หากถึงทางดันของการคิดก็ลองมองไปรวมๆ ทั้งภาพแผนที่มโนทัศน์เพื่อดูว่ายังมีส่วนใดตกค้างหรือหลงเหลือที่ยังไม่ได้เขียนลงไปหรือไม่
8. บางครั้งอาจมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สี หรือรูปทรง (shape) เพื่อแยกแยะหรือจัดหมวดหมู่ความคิด

**สิ่งที่ควรจะปรากฎในแผนผังมโนทัศน์
   1. มีการแตกแขนงความคิด (Branches)
   2. ลูกศรแสดงความสัมพันธ์ระหว่างแขนงความคิด (Node) Arrow Direction
   3. การจัดกลุ่มของความคิด (Grouping ideas) โดยอาจจะขีดเส้นล้อมกรอบกลุ่มความคิด
   4. รายละเอียดในรูปแบบของรายการ (List) เพื่อแสดงประกอบแต่ละความคิด (Node List)
   5. บางครั้งอาจจะมีคำอธิบายประกอบแขนงความคิด (Node / Branches Note)

แผนผังมโนทัศน์  (Concept  Mapping)  สามารถนำมาใช้ในกระบวนการเรียนการสอนได้  ดังนี้

1. ในการสร้าง Concept Mapping จะต้องมีการอธิบายความคิดรวบยอดที่ยากให้ชัดเจน และจะต้องมีการเรียงลำดับอย่างเป็นระบบ ดังนั้นในการใช้ Concept Mapping ในการสอนจะช่วยให้ครูมีความเข้าใจในความคิดรวบยอดหลักต่าง ๆ และความสัมพันธ์ระหว่างความคิดรวบยอดเหล่านั้นมากขึ้น จากนั้น Concept Mapping ช่วยให้ครูสามารถอธิบายให้นักเรียนได้เห็นภาพตามนั้นได้อย่างชัดเจนด้วย ซึ่งจะทำให้มีโอกาสน้อยที่จะไม่เข้าใจ หรือตีความความคิดรวบยอดสำคัญผิด
2. การใช้ Concept Mapping จะช่วยเสริมความเข้าใจ และการเรียนรู้ให้กับนักเรียน เพราะสามารถเห็นภาพ ความคิดรวบยอดที่สำคัญ ไปพร้อม ๆ กับสรุปความสัมพันธ์ระหว่างความคิดเหล่านั้น
3. การใช้ Concept Mapping ยังเป็นช่วยครูในการตรวจประเมินกระบวนการสอนด้วย โดยจะทราบจากการที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือตีความความคิดรวบยอดสำคัญอันไหนผิดบ้าง
4. สามารถใช้ การทำ Concept Mapping ในการประเมินความสามารถในการเรียนรู้ของนักเรียนได้

ขั้นตอนในการสร้าง Concept Mapping
1. เลือก ให้ความสนใจกับหัวเรื่องก่อน แล้วจึงหา Key Word หรือ วลี ที่เกี่ยวข้อง
2. จัดลำดับความสำคัญ วางตำแหน่งความคิดรวบยอด หรือ Key Word จากสิ่งที่เป็นนามธรรม และทั่วๆ ไป ที่สุด ไว้ด้านบน แล้ววางสิ่งที่ชี้เฉพาะ และชัดเจนมากขึ้นไล่ลงมาเรื่อย ๆ
3. จัดกลุ่ม จัดกลุ่มความคิดรวบยอดที่อยู่ในระดับเดียวกัน และเกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน
4. เรียบเรียง จัดความคิดรวบยอดในรูปของแผนภูมิแสดงความคิดที่เป็นระบบ
5. เชื่อมโยงและเพิ่มข้อความ เชื่อมโยงความคิดรวบยอดเข้าด้วยกันโดยใช้เส้น และใช้ข้อความในการบรรยายแต่ละเส้นด้วย สรุปแนวการสอนแบบ Concept Mapping ว่ามีประโยชน์มากสำหรับการเรียนการสอนมักจะเป็นรูปแบบที่เรียงลำดับตามความสำคัญ (Hierarchical organization) ที่วางความคิดรวบยอดทั่วไปและกว้างๆ กว่าอันอื่น ไว้ด้านบน แล้วจึงค่อยวางความคิดรวบยอดที่มีความชัดเจนและชี้เฉพาะมากขึ้น เป็นลำดับลงมาที่ด้านล่าง

ที่มา http://jittaratyean.blogspot.com/2014/04/concept-mapping.html

ความคิดเห็น

ยอดนิยม

CALENDAR

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม